เมื่อพูดถึงช่องทางการชำระเงิน หลายคนคงนึกถึงการชำระด้วยเงินสดเป็นอย่างแรก และนอกเหนือจากนี้ อาจเป็นบัตรเครดิต หรือบัตรเงินสด ขึ้นอยู่กับว่า เราสร้างช่องทางในการชำระเงินให้ตัวเองมากน้อยแค่ไหน แต่จะดีกว่าหรือไม่ หากเรามีช่องทางการชำระเงินอีกหนึ่งช่องทาง ที่ไม่จำเป็นต้องพกเงินสด และไม่จำเป็นต้องพกบัตรเครดิตด้วย โดยช่องทางการชำระเงินที่เรากำลังจะพูดถึงนี้ คือ การชำระเงินด้วย QR Code
การชำระเงินด้วย QR Code (Quick Response) หรือ QR Payment เป็นช่องทางการชำระเงินผ่านการสแกน QR Code
โดยลูกค้าจะใช้งานผ่าน Application ของธนาคารหรือ e-Wallet ต่างๆ บนสมาร์ทโฟน ซึ่งปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับหลาย ฝ่าย ได้กำหนด Standard QR Code ให้ร้านค้าทุกร้านที่จะเปิดช่องทางการชำระเงินด้วย QR Code ใช้บาร์โค้ดที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ ไม่ว่าลูกค้าจะใช้ Application ของธนาคารใด หรือแม้กระทั่งใช้ e-Wallet ก็สามารถสแกน QR Code ได้
ข้อดีของการชำระเงินผ่าน QR Code
– สะดวก รวดเร็ว มีความเป็นสากล ลดความซับซ้อนในการจัดการ
– สามารถรองรับการชำระเงินที่หลากหลาย โดยสแกน QR Code ผ่าน Mobile Banking ได้ทุกธนาคาร, สแกนผ่าน Application ของบัตรเครดิต หรือบัญชี e-Wallet ได้ด้วย
– เมื่อโอนเงินข้ามธนาคารผ่าน Prompt Pay จะมีค่าธรรมเนียมต่ำ หรือไม่มีค่าธรรมเนียมเลย
– ปลอดภัย ลดความเสี่ยงจากการพกเงินสด และการให้ข้อมูลบัญชีธนาคารหรือรหัส CVV บัตรเครดิตของลูกค้า แก่ร้านค้า
– สามารถตรวจสอบความถูกต้องของการชำระเงินได้จากชื่อบัญชี และจำนวนเงินที่แสดง หลังจากสแกน QR Code ของร้านค้าได้
– ลดปัญหาการทุจริตของพนักงาน, การใช้ธนบัตรปลอม เพิ่มความสะดวกในการจัดการบัญชี และทำธุรกรรม
– สามารถนำไปต่อยอดนวัตกรรมทางการเงินในอนาคตได้ เช่น ข้อมูลการชำระเงินบนระบบนี้ จะทำให้ร้านค้าขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถขอสินเชื่อ โดยใช้เพียงข้อมูลการชำระเงินบนระบบนี้เป็นข้อมูลอ้างอิงได้ ไม่ต้องใช้สินทรัพย์เป็นหลักประกันเหมือนอย่างที่เคยทำมาอีกต่อไป
โดย Standard QR Code ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศใช้ แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่
1.แบบ Static เป็น QR Code ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งร้านค้าสามารถพิมพ์และติด QR Code รูปแบบนี้ ไว้ที่แคชเชียร์หรือตัวสินค้าได้ตลอด จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลการชำระเงิน โดยร้านค้าเป็นผู้กำหนดราคา ให้ลูกค้าเป็นผู้สแกน และใส่จำนวนเงินที่ต้องชำระใน Application เอง
2. แบบ Dynamic เป็น QR Code มีการเปลี่ยนแปลงในทุกรายการ โดยการชำระเงินแต่ละครั้ง จะใช้ QR Code ที่แตกต่างกัน ซึ่งร้านค้าจะเป็นผู้สร้าง QR Code จาก Mobile Application ของร้าน และระบุจำนวนเงินในการชำระค่าสินค้าเอง ส่วนลูกค้ามีหน้าที่สแกน QR Code และยืนยันการชำระเงินเท่านั้น
สำหรับวิธีการชำระเงิน ด้วย QR Code นั้น สามารถชำระผ่าน Application Mobile Banking ได้ทุกธนาคาร ทั้ง K Plus Shop ของธนาคารกสิกรไทย, SCB Easy ของธนาคารไทยพาณิชย์, KMA ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา, MyMo ของธนาคารออมสิน ฯลฯ นอกจากนี้ ยังใช้ Application e-Wallet อย่าง True Money Wallet ได้อีกด้วย โดยมีวิธีการชำระเงิน ดังนี้
ทั้งนี้ เราจะพบเห็นร้านค้าที่รับชำระเงินด้วยการสแกน QR Code บ้างแล้วในหลายพื้นที่ โดยในอนาคต จะมีขยายพื้นที่ที่รับชำระเงินด้วย QR Code ให้ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งนับเป็นข่าวดีที่ประเทศไทย จะก้าวทันเทคโนโลยีของโลกได้มากขึ้น
ที่มา : https://www.bot.or.th/Thai/PaymentSystems/FinTech/Documents/QRCodeSlide20170830.pdf
https://thestandard.co/standardqrcode/
https://brandinside.asia/go-to-cashless-society-qr-code-scb/
รูปภาพ : https://www.thairath.co.th/content/1056629